วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หลักการเสนอพระราชบัญญํติกองทุนสุนไหมทดแทนผูประสบภัยจากรถ พ.ศ.

หลักการและเหตุผลในการเสนอพระราชบัญญัติกองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. .
พรบ.รถ หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นกฎหมายภาคบังคับกับเจ้าของรถทุกคนที่ต้องมีหน้าที่จ่ายเบี้ยประกัน โดยการบริหารจัดการของบริษัทประกันภัยเอกชนและผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับการคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาล รวมทั้งได้รับการชดเชยความเสียหายจากการทุพพลภาพหรือเสียชีวิต ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา จำนวนเบี้ยประกันภาคบังคับประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ถูกใช้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูงถึง ๔,๗๘๕ ล้านบาท ขณะที่ใช้ในการจ่ายสินไหมทดแทนกับผู้ประสบภัยจากรถเพียง ๔,๕๓๔ ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสะท้อนปัญหาในการบริหารจัดการและประสิทธิภาพในการดำเนินการที่สร้างภาระให้กับผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันผู้ประสบภัยจากรถจำนวนมากกว่า ร้อยละ ๕๕.๓ ไม่ใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ มีจำนวนเพียงร้อยละ ๔๒ เท่านั้นที่ใช้สิทธิและเกือบทุกคนที่ใช้สิทธิประสบปัญหาในการใช้สิทธิไม่ว่าจะเป็นการบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายสินไหม การจ่ายเงินช้า เป็นภาระในการสำรองเงินจ่ายล่วงหน้า ซึ่งถูกพิสูจน์มานานกว่า ๑๗ ปี เนื่องจากพรบ.รถ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม หรือบัตรทอง ดังนั้นความคุ้มครองจากพรบ. รถ ด้านการรักษาพยาบาลจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะหลักเกณฑ์การใช้สิทธิมีการจำกัดเพดานวงเงินในการรักษาพยาบาล มักจะมีการผลักภาระมาที่ผู้ประสบภัยที่ต้องจ่ายเงินสำรอง และเป็นปัญหาในการล้มละลายของครอบครัวทั้ง ๆ ที่คนไทยทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงมีหลักการที่สำคัญ ในการยกเลิกภาระของผู้บริโภคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ต้องจ่ายเงินเอง มีคณะกรรมการบริหารกองทุนที่มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีสำนักงานที่เป็นอิสระบริหารกองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ใช้งบประมาณในการบริหารกองทุนไม่เกิน ๓-๕ เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนกลไกรัฐในการต่อทะเบียนรถยนต์ในการเก็บเบี้ยประกัน รวมทั้งการจ่ายเงินสินไหมทดแทนไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด มีขั้นตอนที่ดี รวดเร็ว และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและอัตราการเก็บเบี้ยประกันในแต่ละปี ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ เพราะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม อีกทั้งเป็นการผลักภาระให้ประชาชน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ลดความซ้ำซ้อนและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ลดภาระประชาชน และลดภาระความยุ่งยากในการเข้าถึงสิทธิของผู้ประสบภัย รวมทั้งประชาชนจะได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึงและสามารถใช้สิทธิได้อย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติกองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ฉบับนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น