วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ตามบทเรียนอาสาสมัครศูนย์คุ้มครองสิทธิจังหวัดเชียงใหม่


ในวันที่ 10 ตค.52 ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเชียงใหม่ จัดการอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครฯ กับบทบาทรับเรื่องร้องเรียน โดยมีวัตุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานของอาสาสมัครรุ่นเก่าให้กับอาสาฯ รุ่นใหม่ และติดตามกระบวนการทำงานในพื้นที่ พร้อมทั้งเสริมความรู้ที่เท่าทันต่อสถานการณ์จาก จนท.ศบท.ชม เรียนรู้กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน ตามแบบฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์ฯ ตามไปดูได้ที่เวปไซด์ http://www.cm-consumer.com/activity.php?id=16











องค์กรผู้บริโภค เรียกร้องหยุดอ้างผลประโยชน์ผู้บริโภค
เพราะกรอบการประมูลผู้บริโภคยังไม่ได้ผลประโยชน์จริง
ไม่มีหลักประกันเรื่องการเข้าถึงของกลุ่มคนพิเศษ
เป็นเพียงการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ
แนวทางประมูลอาจจะเกิดปัญหาการฮั้วประมูลได้
พร้อมเรียกร้องให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจ 3 G
และต้องยึดผลประโยชน์ของผู้บริโภคและรัฐเป็นสำคัญ

สืบเนื่องจากทั้งนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต่างให้ความเห็น ว่า การประมูลคลื่นโทรคมนาคม รุ่น 3G จะไม่ให้ความสำคัญเรื่องราคาในการประมูล เพราะหากประมูลราคาแพงสุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค
การกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ถ้าจะให้ประโยชน์เกิดกับผู้บริโภค ในการประมูลคลื่นฯ 3G รัฐจะต้องได้รับประโยชน์น้อย แต่ข้อเท็จจริงก็คือระบบการให้บริการในกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยปัจจุบัน มีผู้ให้บริการที่ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นองค์การโทรศัพท์ (TOT) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) ซึ่งทำให้บริษัทเอกชนที่ให้บริการโทรคมนาคมมีการจ่ายส่วนแบ่งค่าตอบแทนให้รัฐ ผ่าน TOT และ CAT รวมแล้วมากถึงปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือถ้าคิดคำนวณตลอดอายุสัมปทาน จะเป็นเม็ดเงินอย่างน้อยที่สุด 1.8 แสนล้านบาท (ตัวเลขจากการคำนวณของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์) เมื่อเทียบกับการประมูลคลื่นฯ 3G ที่มีการกำหนดราคาเบื้องต้นเพียง 6,000 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของระบบสัมปทานจำนวนมหาศาล การจะผลักภาระต่อผู้บริโภคหรือไม่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลายประการ ที่สำคัญคือการมีระบบการแข่งขันที่เป็นจริงและเป็นธรรม รวมทั้งการมีกติกาการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง มากกว่าที่จะสัมพันธ์โดยตรงกับราคาการประมูล
ข้อที่ต้องพิจารณาที่แท้จริงในการเปิดประมูลกลับอยู่ที่ว่า เงื่อนไขที่กำหนดสำหรับการประมูลในครั้งนี้ก่อให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมเพียงใด ข้อเท็จจริงในขณะนี้ก็คือ ทาง กทช. กำหนดที่จะดำเนินการเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นฯ 3G จำนวน 4 ใบ ในขณะที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการประมูลเพียง 4 บริษัท ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้จึงไม่เอื้อให้มีการแข่งขันในการประมูลอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกลับจะเปิดช่องให้เกิดการฮั้วประมูลขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้รับผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม
ด้วยเหตุผลหลักดังกล่าว ประกอบกับมิติของผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะติดตามมาจากการเปิดประมูลคลื่นฯ 3G ในครั้งนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องดังนี้
1. กทช. ควรขยายกรอบการรับฟังความคิดเห็นที่รวมถึงผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ เช่น หลักประกันเรื่องการเข้าถึงบริการของกลุ่มคนพิเศษ หลักประกันเรื่องราคา เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับการลดต้นทุนในการดำเนินการที่ปรับเปลี่ยนจากระบบการจ่ายสัมปทานมาเป็นการจ่ายค่าประมูลคลื่น 3 G ดังนั้นต้นทุนที่บริษัทได้ลดราคาต้องคืนผลประโยชน์นั้นให้กับผู้บริโภค นอกเหนือจากการรับฟังเรื่องคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล 3จี ผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ราคาขั้นต้นของการประมูล รวมทั้งโครงสร้างทางการตลาดที่มีการดำเนินการที่ผ่านมา
2. องค์กรผู้บริโภคเห็นความจำเป็นในการเปิดบริการโทรคมนาคม 3G แต่เนื่องจากความต้องการระบบ 3G ตามที่มีการคาดการณ์นั้นมีเพียงร้อยละ 10 ของประชากรไทยเท่านั้น เมื่อประกอบเข้ากับจำนวนเอกชนที่มีศักยภาพในการเข้าประมูลที่มีอยู่น้อย ดังนั้นในการเปิดประมูลคลื่นฯ 3G ครั้งนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดให้เข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด แทนที่จะเปิดใบอนุญาตถึง 4 ใบ ควรมีการเปิดเพียง 1-2 ใบเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรคลื่นโทรคมนาคม 3G อันเป็นทรัพยากรสาธารณะอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์สูงสุด ตลอดจนหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการฮั้วประมูลด้วย
3. ควรสนับสนุนให้เกิดกลไกการติดตามกำกับเนื้อหา(Content) ความเท่าทันเทคโนโลยี และรวมทั้งปัญหาที่เกิดจากระบบ 3 G ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกมส์(Games) การพนัน ( Gambling ) และการล่อลวงเด็กและผู้หญิง(Girl)